คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ
“Workshop: Design Thinking for New Medical Educator”
พัฒนาศักยภาพคณาจารย์ด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2568 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สารเนตร์ ไวคกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เป็นประธานเปิดงาน “Workshop: Design Thinking for New Medical Educator” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2568 ณ อาคารแพทยศาสตร์ 1 ห้องบรรยาย 201 ชั้น 2
โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพคณาจารย์ ให้สามารถนำแนวคิดกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา บุคลากรทางการแพทย์ และการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของวงการแพทยศาสตร์
ภายในงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกันยิกา ชำนิประศาสน์ รองคณบดีและรองคณบดีฝ่ายแพทยศาสตรศึกษา ได้กล่าวแนะนำวิทยากร โดยระบุว่า
"การพัฒนาบุคลากรเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาทางการแพทย์ Design Thinking เป็นแนวทางที่ช่วยให้คณาจารย์สามารถออกแบบและพัฒนากระบวนการบริหารและการสอนให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด วันนี้ เราได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เทอดพงศ์ ทองศรีราช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอาจารย์แพทย์ ซึ่งจะนำเสนอแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง"
การอบรมนี้จัดขึ้นในรูปแบบ Workshop เชิงปฏิบัติการ ที่เน้นการเรียนรู้ผ่าน กระบวนการคิดเชิงออกแบบ ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
1.Empathize ทำความเข้าใจปัญหาและความต้องการของบุคลากร
2. Define กำหนดปัญหาและความท้าทายที่ต้องแก้ไข
3. Ideate คิดค้นแนวทางพัฒนาการบริหารและการสอน
4. Prototype ออกแบบและสร้างต้นแบบแนวทางที่นำไปใช้ได้จริง
5. Test ทดลองใช้และพัฒนาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ไฮไลต์ของการอบรม
วันที่ 1: ทำความเข้าใจหลักการของ Design Thinking ฝึกระบุปัญหาเชิงระบบ และร่วมกันหาแนวทางพัฒนาแนวคิดใหม่
วันที่ 2: ลงมือออกแบบ Prototype และทดลองใช้ พร้อมรับข้อเสนอแนะจากเพื่อนอาจารย์และวิทยากร
โครงการนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ในการส่งเสริมศักยภาพของคณาจารย์ให้สามารถออกแบบแนวทางการพัฒนาบุคลากรได้อย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับมาตรฐานทางการแพทย์ยุคใหม่ และสนับสนุนการทำงานร่วมกันของคณาจารย์เพื่อยกระดับศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น







コメント